วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความรู้เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

สรุปสาระสำคัญ
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง

 ผลสำรวจดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยองค์การเพื่อความ
   โปร่งใสนานาชาติ(Transparency International : TI) ล่าสุดประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ ๘๔
   (คะแนนเต็ม ๑๐ ประเทศไทยได้คะแนน ๓.๔๐) เท่ากับว่าอันดับความโปร่งใสของประเทศไทยในมุมมอง
   ของต่างประเทศลดลงหรือแย่ลงกว่าเดิม
  มีรายงานออกมาว่าประเทศไทยมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในด้านเมือง(Political Corruption) เป็นส่วนใหญ่
   กล่าวคือมีการใช้อำนาจของนักการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึง
   ผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งส่งผลรวมถึงด้านอื่น ๆ ไปด้วย
  จากการศึกษารูปแบบการทุจริตคอร์รัปชั่นตามทัศนะของประชาชน โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
   จากเครือข่ายประชาชน ๗,๖๐๐ คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม
   แห่งชาติ  ร่วมกับสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระหว่างวันที่ ๑ – ๓๑ พฤษภาคม
   ๒๕๔๗ ได้ข้อสรุปว่าการทุจริตที่ประชาชนพบเห็นมากที่สุดมี ๕ รูปแบบที่สำคัญเรียงตามลำดับคือ
   ๑. การรับสินบนและการรับของขวัญ ๒. การวิ่งเต้นขอตำแหน่งในวงราชการ ๓. การรับส่วย รีดไถ
   ๔. การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย และ ๕. การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ
  เมื่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทยเกิดมาจากปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวและส่งผลกระทบในทางลบ
   ต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันทางการค้า การลดทอนรายได้ของประเทศ
   ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ด้วยเหตุผลนี้รัฐธรรมนูญจึงได้มีบทบัญญัติในเรื่องจริยธรรมของ
   ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้มีประมวลจริยธรรมเป็นตัวกำหนดมาตรฐานทาง
   จริยธรรม รวมทั้งการกระทำอันมีลักษณะเป็นการต้องห้ามในเรื่องของการถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
   ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์
   หรือโทรคมนาคมและการเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือบริษัทที่รับสัมปทาน
   หรือเข้าเป็นคู่สัญญาอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ซึ่งเป็นสาระสำคัญและแสดงให้เห็นถึงเจตจำนง
   ที่จะทำให้มีการปรับปรุงระบบการเมืองและเป็นมาตรการควบคุมมิให้นักการเมืองใช้อำนาจหน้าที่เป็นไป
   ในทางทุจริตและไม่เกิดประโยชน์สุขต่อสังคมโดยรวม
  กรณีประเทศอังกฤษ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ หนังสือพิมพ์เดอะการ์ดเดียน รายงานว่า สมาชิกรัฐสภา
   ๒ คน ตกลงยิมยอมที่จะตั้งคำถามในรัฐสภาโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสด ส.ส. ทั้งสองรายนี้ยอมใช้
   ตำแหน่งที่ได้รับเลือกตั้งขึ้นมาหาประโยชน์ส่วนตน โดยรับสินบนให้ตั้งคำถามที่มีต่อรัฐสภาเพื่อช่วยผลักดัน
   ส่งเสริมให้ได้ประโยชน์กับผู้ให้สินบน ส.ส. ทั้งสองได้กระทำไปโดยมิได้ตระหนักว่าพวกเขาถูกนักหนังสือพิมพ์
   หลอกให้ทำเพื่อเป็นการตรวจสอบความซื่อตรง
  กฎหมายของอังกฤษมิได้กำหนดว่าการรับสินบนของ ส.ส. ผิดต่อกฎหมาย แต่เพื่อปกป้องเกียรติภูมิรัฐสภา
   นายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบมาตรฐานของการประพฤติปฏิบัติ
   หรือจรรยาบรรณของผู้ดำรงตำแหน่งทางสาธารณะทุกประเภท (Public Office) เพื่อสร้างมาตรฐานชั้นสูง
   ของการดำเนินชีวิตให้แก่สาธารณะ ต่อมาคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ระบุหลักคุณธรรม ๗ ประการ
   สำหรับการดำรงชีวิตในสังคมของบุคคลสาธารณะ ซึ่งเป็นหลักการที่อ้างว่าได้สะท้อนถึงพฤติกรรม
   ที่สาธารณชนต้องปฏิบัติ และเป็นหลักจริยธรรม ๗ ประการที่สังคมต้องการจากบุคลากรต่างๆ
   ในหน่วยราชการและที่มีตำแหน่งเป็นบุคคลสาธารณะ ดังนี้
   ๑. ความไม่เห็นแก่ตัว (Selflessness) คือ มุ่งการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม
       ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัว หรือเพื่อรอบข้าง
   ๒. ความซื่อตรง มั่นคง (Intergrity) คือ การไม่ยอมรับพันธะหรือข้อผูกมัดใดๆ ต่อสิ่งที่จักมีอิทธิพล
       ต่อหน้าที่ของส่วนรวม
   ๓. ความปราศจากอคติ (Objectivity) คือ การกระทำใดๆ เช่น การแต่งตั้งผู้ร่วมงาน การจัดทำสัญญา
       ฯลฯ ให้วางอยู่บนคุณสมบัติที่ดีเลิศเท่านั้น
   ๔. ความสามารถตรวจสอบความรับผิดชอบ(Acountability) คือ การให้สังคมสามารถประเมิน
       ตรวจสอบความรับผิดชอบได้ และยอมรับต่อการตรวจสอบพิจารณานั้น
   ๕. ความเปิดเผย (Openness) คือ สามารถอธิบายเหตุผลการตัดสินใจของตนในกรณีต่างๆ ได้อย่าง
       เปิดเผย ในกรณีที่ต้องปกปิดข้อมูลนั้นกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของสาธารณะเท่านั้น
   ๖. ความมีสัมมาอาชีพ (Honesty) คือ การแสดงความชัดเจนของการได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนบุคคล
       แก้ไขและลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทำงานตามหน้าที่และผลประโยชน์ส่วนบุคคล และช่วย
       ปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม
   ๗. ความเป็นผู้นำ (Leadership) คือ ปฏิบัติตนในฐานะผู้นำมุ่งส่งเสริมหลักการคุณธรรม และกระทำตน
       เป็นแบบอย่างที่ดี
  หลักคุณธรรมตามหลักการสากลได้ถูกอ้างถึงครั้งแรกในรายงานของธนาคารโลกเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๙ ได้กล่าว
   ถึงความสำคัญของการมีธรรมาภิบาลว่าเป็นลักษณะและวิถีทางของการใช้อำนาจในการใช้ทรัพยากร
   ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมการมีส่วนร่วมของภาคส่วน
   ต่างๆ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์การให้ประเทศต่างๆ กู้เงินเพื่อฟื้นฟู
   เศรษฐกิจพบว่าการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good  Governance) เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง
   ที่นำไปสู่ความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
  สำหรับการบริหารราชการของประเทศไทยตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good  Governance)
   พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้บัญญัติเกี่ยวกับ
   วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีโดยมีเป้าหมายเพื่อเกิดประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อ
   ภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงาน
   เกินความจำเป็น มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อเหตุการณ์ ประชาชนได้รับการอำนวย
   ความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ และมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
  หลักธรรมาภิบาลมีหลักการที่สำคัญ ๖ ประการ คือ
   ๑. หลักนิติธรรม (Rule of law) คือการปกครองโดยยึดหลักกฎหมาย เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชน
       ทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สิน การแสดงออก การดำรงชีพ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
       ทั้งมวลของปัจเจกบุคคล และโดยหลักการนี้ผู้ปกครองไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ อันละเมิดต่อกฎหมาย
       กระทำต่อประชาชนได้
   ๒. หลักคุณธรรม (Virtues) คือการยึดมั่นในเรื่องความถูกต้องดีงาม การส่งเสริมให้มีจริยธรรม
       และคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมืองที่ขาดจริยธรรมและคุณธรรม
   ๓. หลักความโปร่งใส (Transparency) คือการปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์การให้มีความโปร่งใส
       เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และมีกระบวนการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบความถูกต้องได้
   ๔. หลักการมีส่วนร่วม (Participation) คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็น
       ต่อการตัดสินใจในองค์การ คุ้มครองสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐ และการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของ
       ภาคประชาชน
   ๕. หลักความรับผิดชอบ (Acountability) คือการสำนึกในความรับผิดชอบต่อสาธารณะและเคารพ
       ความคิดเห็นที่แตกต่าง
   ๖. หลักความคุ้มค่า (Effectiveness) คือการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์
       สูงสุดแก่ส่วนรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น