วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บำเหน็จบำนาญ


บำเหน็จบำนาญ
v “บำเหน็จ” หมายความว่า เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมาซึ่งจ่ายครั้งเดียว
v “บำนาญ” หมายความว่า เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือน

สิทธิในบำเหน็จบำนาญปกติ
          สิทธิในบำเหน็จหรือบำนาญเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้
          ข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1.       เหตุทดแทน บำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนนั้น ให้แก่ข้าราชการซึ่งออกจากประจำการเพราะเลิกหรือ
ยุบตำแหน่ง หรือมีคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด ฯ
2.       บำเหน็จบำนาญเหตุทุพพลภาพ คือให้แก่ข้าราชการผู้ป่วย เจ็บทุพพลภาพ ซึ่งแพทย์ที่ทางราชการ
รับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ไม่สามารถที่รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป
3.       บำเหน็จบำนาญแหตุสูงอายุนั้น ให้แก่ข้าราชการผู้มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ แล้วถ้าข้าราชการผู้ใด
มีอายุครบห้าสิบปีบริบูรณ์แล้ว ประสงค์จะลาออกจากราชการก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุสูงอายุได้
4.       บำเหน็จบำนาญเหตุรับราชการนานนั้น ให้แก่ข้าราชการซึ่งมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จ
บำนาญครบสามสิบปีบริบูรณ์แล้ว
ถ้าข้าราชการผู้ใดมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญครบยี่สิบห้าปีบริบูรณ์แล้วประสงค์
จะลาออกจากราชการก็ให้ผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตให้ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุรับราชการนานได้
5.       ข้าราชการผู้ซึ่งมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญไม่ถึงสิบปีบริบูรณ์มีสิทธิได้บำเหน็จ
6.       ข้าราชการผู้ซึ่งมีเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตั้งแต่สิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปมีสิทธิได้รับบำนาญ

เวลาราชการและการนับเวลาราชการ
คำนวณบำเหน็จบำนาญ
1.       ข้าราชการซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แล้ว เป็นอันพ้นจากเวลาราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นมี
อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์
2.       การนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญนั้น ให้นับแต่วันรับราชการให้นับแต่วันรับ
ราชการ รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ซึ่งมิใช่อัตราข้าราชการวิสามัญหรือลูกจ้าง
               ข้าราชการซึ่งทำงานหรือรับราชการก่อนเกษียณอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์ ให้เริ่มนับเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญตั้งแต่วันทีมีอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์เป็นต้นไป
3.       เวลาป่วยหรือลา หรือต้องพักราชการ ซึ่งได้รับอนุญาตให้รับเงินเดือนเต็มนั้น สำหรับการคำนวณ
บำเหน็จบำนาญให้นับเหมือนเต็มเวลาราชการ
เวลาป่วยหรือลาหรือต้องพักราชการ หรือมิได้อยู่รับราชการ ซึ่งมิได้รับอนุญาตให้รับเงินเดือน
ไม่นับเป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ
4.       ข้าราชการซึ่งทางราชการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกให้ไปดูงาน หรือศึกษาวิชาในต่างประเทศ ให้นับ
เวลาสำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญในระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ
5.       เวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญให้นับแต่จำนวนปี เศษของปีถ้าถึงครึ่งปีให้นับเป็นหนึ่งปี
การนับเวลาตามวรรคก่อน สำหรับเดือนหรือวัน ให้คำนวณตามวิธีการจ่ายเงินเดือนและให้นับสิบสองเดือนเป็นหนึ่งปี สำหรับจำนวนวัน ถ้ามีการรวมกันหลายระยะ ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน
วิธีคำนวณบำเหน็จบำนาญ
1.       ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเกณฑ์คำนวณ แต่ถ้าเป็นการคำนวณ
บำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ซึ่งพ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุตาม มาตรา 19 เงินเดือนสุดท้ายให้หมายความรวมถึงเงินเดือนที่ได้เลื่อนในวันสุดท้ายของปีงบประมาณนั้นด้วย
2.       วิธีคำนวณบำเหน็จบำนาญ ให้กระทำดังนี้
1.1   สำหรับบำเหน็จ ให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการ
1.2   สำหรับบำนาญ ให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายหารด้วยห้าสิบคูณด้วยจำนวนปีเวลาราชการ



ความผิดฐานหมิ่นประมาท(ตามประมวลกฎหมายอาญา)


ความผิดฐานหมิ่นประมาท(ตามประมวลกฎหมายอาญา)
          ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน  หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนการใส่ความที่เป็นถ้อยคำหรือข้อความอันจะทำให้ผู้ที่ถูกใส่ความต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังก็มิใช่จะพิจารณา หรือวัดจากความรู้สึกของผู้ถูกใส่ความเป็นสำคัญ เพราะอารมณ์ของบุคคลแตกต่างกันต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึก และความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความของวิญญูชนทั่วๆไป
          หมิ่นประมาท นอกจากจะมีความผิดทางอาญาแล้ว ผู้กระทำผิดยังต้องรับผิดในทางแพ่ง ซึ่งต้องชดใช้ค่าสินไหม  ทดแทนแก่ผู้เสียหาย
          โทษของความผิดฐานหมิ่นประมาท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ...ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          ตัวอย่างความผิดฐานหมิ่นประมาท
           นาย ก พูดกับนาย ข ว่า “เธอรู้หรือเปล่านางสาว ค เป็นชู้กับ นาย ง”  นาย ก มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
นางสาว ค และ นาย ง  นางสาว ค และนาย ง ถือเป็นผู้ได้รับความเสียหาย

ความผิดฐาน “ดูหมิ่นซึ่งหน้า”
          ดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นการดูหมิ่นผู้ที่ถูกดูหมิ่น และกระทำต่อหน้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย หากมีการ     ดูหมิ่นซึ่งหน้าแล้วถือเป็นความผิดสำเร็จทันที   ดูหมิ่นซึ่งหน้า คือคำด่าที่เป็นคำหยาบ ที่เป็นการเหยียดหยาม  เช่น ไอเหี้ย   ไอสัตว์  เป็นต้น   การดูหมิ่นซึ่งหน้ามีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ตัวอย่าง  นาย ก เห็นนาย ข เดินผ่านมา ก็พูดใส่ขึ้นว่า “ไอเหี้ย” ซึ่งในเวลาดังกล่าวไม่มีใครเดินผ่านมาเลย และนาย ก ก็ยังมีเรื่องบาดหมางอยู่กับ นาย ข ด้วย นาย ก มีความผิด ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับที่ดิน


ถ้าปลูกต้นข้าวหรือธัญพืชซึ่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้คราวเดียวหรือหลายคราวต่อปีโดยสุจริต
          เจ้าขอที่ดินต้องยอมให้ผู้ปลูกข้าวหรือธัญพืชโดยสุจริตนั้น  ครอบครองที่ดินจนกว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จ แต่ต้องใช้เงินแก่เจ้าของที่ดินตามเกณฑ์ค่าเช่าที่ดินนั้น คือ เจ้าของที่ดินจะใช้ค่าตอบแทนแก่ผู้ปลูกข้าวหรือธัญพืช แล้วครอบครองที่ดินคืนทันทีก็ได้
          แต่ถ้าปลูกไม่สุจริต เช่น รู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ของคนอื่นก็ยังปลูกต้นข้าวลงไป เจ้าของที่ดินก็สามารถสั่งให้ผู้ปลูกถอนต้นข้าวไปได้
ถ้ามีกิ่งไม้จากที่ดินข้างเคียงล้ำเข้ามาในที่ดินของตน เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์อย่างไร
          เจ้าของที่ดินต้องบอกให้เจ้าของต้นไม้นั้นตัดภายในเวลาที่สมควร ถ้าบอกแล้วเขายังเพิกเฉย ก็ตัดเองได้ และถ้าเป็นรากไม้ที่ล้ำเข้ามา เจ้าของที่ดินตัดเองได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกก่อน
ถ้าที่ดินแปลงหนึ่งทำให้เวลาฝนตกน้ำไหลท่วมที่ดินแปลงต่ำ ผลจะเป็นอย่างไร
          ถ้าเป็นเองตามธรรมชาติก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ เจ้าของที่ดินแปลงต่ำไม่มีทางทำอะไรได้ แต่ถ้าที่ดินแปลงสูงเกิดขึ้นจากเจ้าของที่ดินถมเองจนสูงกว่าแปลงอื่นทำให้น้ำไหลท่วมที่ดินแปลงต่ำ เจ้าของที่ดินมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และเรียกให้เจ้าของที่ดินแปลงสูงทำทางระบายน้ำได้โดยออกค่าใช้จ่ายเอง

ถ้าเจ้าของที่ดินใช้ที่ดินของตนจนก่อความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นๆผลจะเป็นอย่างไร
          ตัวอย่าง นาย ก. ซื้อบ้านจัดสรรแปลงหนึ่งซึ่งมีวัตถุประสงค์ใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่แทนที่ นาย ก.จะใช้อยู่อาศัย กลับตั้งเป็นโรงงานเคาะพ่นสีรถยนต์ส่งเสียงหนวกหู และทำทั้งวันทั้งคืนจนบ้านข้างเคียงไม่เป็นอันหลับตามปกติได้ เช่นนี้ กฎหมาย  ให้สิทธิเจ้าของบ้านข้างเคียงฟ้องร้องค่าเสียหาย และฟ้องให้ นาย ก.หยุดการดำเนินงานต่อไปได้
ถ้าที่ดินของตนถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบจนออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ได้
เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมรอบจะทำอย่างไรบ้าง
          ที่ดินแปลงใดถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนออกทางสาธารณะไม่ได้ เจ้าของที่ดินจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมรอบอยู่ออกไปสู่สาธารณะได้เรียกว่า “เรียกว่าทางจำเป็น”ที่ดินและวิธีผ่านออกไปนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นที่จะใช้ผ่าน โดยคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าจำเป็นจะสร้างถนนผ่านก็ได้ แต่ทั้งนี้เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ทางผ่านให้แก่เจ้าของที่ดินที่ตนผ่านด้วย

การร้องทุกข์ในเรื่องที่ได้รับความเดือดร้อนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์


ราษฎรท่านใดได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่ของตน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราษฎร  อาทิเช่น
§    เจ้าหน้าที่ที่ดินเพิกเฉยไม่ไปรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้ 
§    เจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งไม่ยอมออกใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืนให้โดยไม่มีเหตุอันสมควร 
§    เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งเพิกถอน นส.3ที่ชาวบ้านได้มาโดยชอบโดยไม่ปรากฏเหตุผลตามกฎหมาย
           โดยที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบ หรือการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ หรือที่เรียกว่า ครท.  โดยมีหน้าที่หลักในการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

การร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์มีข้อดีอย่างไร
1.        การร้องทุกข์ต่อ ครท ไม่จำต้องมีทนายความ ราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนสามารถไปร้องทุกข์ต่อ ครท.
ได้โดยตรงด้วยตนเอง โดยจะต้องจัดทำคำร้องทุกข์ให้เป็นรายลักษณ์อักษร แต่หากราษฎรประสงค์จะแต่งทนายความเข้ามาเป็นตัวแทน กฎหมายก็รับรองให้ทำได้
2.        ระบบการพิจารณาของ ครท.ก็จะดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว การวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ต่างๆจะใช้เวลาไม่นาน
มากนักเมื่อเทียบกับกระบวนการพิจารณาในศาล
3.       ใครบ้างที่จะร้องทุกข์ได้และจะร้องทุกข์ได้ในเรื่องใดบ้าง  พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกากำหนดว่า
บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิจะร้องทุกข์ต่อ ครท. ได้แต่จะต้องปรากฏด้วยว่า บุคคลที่จะร้องทุกข์นั้นเป็นผู้ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อน หรืออาจจะเสียหายหรือเดือดร้อนโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และต้องปรากฏว่าความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้น เกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
-          ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือ
-          ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือ
กระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือขัด หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

กำหนดอายุความร้องทุกข์
ราษฎรคนใดจะมาร้องทุกข์เรื่องการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ต่อ ครท. จะต้องดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่วันที่ตนรู้ หรือควรได้รู้เหตุแห่งการร้องทุกข์นั้นๆ  เช่นเจ้าหน้าที่ที่ดินเพิกถอน นส.3 ของผู้ร้อง(ราษฏร)ก็ต้องนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งเพิกถอนดังกล่าวไปให้ทราบ


การร้องทุกข์ต้องทำอย่างไร
          เมื่อราษฎรได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประสงค์จะร้องทุกข์ต่อ ครท. ต้องทำคำร้องทุกข์เป็นหนังสือโดย
1.        มีชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์
2.       ระบุเรื่องอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับเรื่องที่ร้องทุกข์
3.       ใช้ถ้อยคำสุภาพ
4.       ลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์ ถ้าเป็นการยื่นร้องทุกข์แทนผู้อื่นจะต้องแนบใบมอบฉันทะให้ร้องทุกข์มาด้วย
ในการยื่นร้องทุกข์ อาจจะมาร้องทุกข์ ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร
10200 หรือจะยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ส่งเรื่องร้องทุกข์ไปยัง ครท. ต่อไป
          นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้มีการร้องทุกข์ทางไปรษณีย์ได้โดยให้จัดคำร้องทุกข์ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนลงทะเบียนไปยังหน่วยงานธุรการ ของ ครท.คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถนนพระอาทิตย์กรุงเทพมหานคร 10200
          อนึ่ง แม้ได้มีการร้องทุกข์ตามขั้นตอนจนมีคำวินิจฉัยร้องทุกข์ออกมาแล้ว หากคำวินิจฉัยไม่เป็นไปตามความต้องการของผู้ร้อง คือไม่มีการปัดเป่าความเดือดร้อน และผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ ครท. ก็ยังมีสิทธินำเรื่องขึ้นฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลยุติธรรมในคดีแพ่งหรือคดีอาญาได้โดยไม่ต้องห้าม 

ตัวอย่างความผิดทางวินัย(ชู้สาว)


กรณีความผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างครูชายไม่โสดกับครูสตรีโสด
นายโย ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
นางสาวเย ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
กระทำความผิดวินัยเรื่อง มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวต่อกันจนทำให้ครอบครัวของนายโยได้รับความเดือดร้อน
แตกแยก
ข้อเท็จจริงได้ความว่านายโยได้จดทะเบียนสมรสกับนางปลา มีบุตรด้วยกัน 3 คน เนื่องจากนางปลา
ติดการพนันด่านายโยทุกวัน ทำให้นายโยเกิดความกดดัน เมื่อมาพบนางเยที่ทำงานร่วมกันจนสนิทสนมชอบพอกัน
จนมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวถึงขั้นได้เสีย แล้วมาอาศัยอยู่บ้านที่ร่วมกันปลูกอย่างเปิดเผย   แต่นายโยก็ไม่ได้ละทิ้ง
ครอบครัวส่งเงินให้บุตรสาวเล่าเรียนมาตลอด
มาตรา 94 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ..2547
กรณีกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
โทษปลดออกจากราชการทั้งสองราย
มติ    รับทราบ

กรณีความผิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างครูชายไม่โสดกับครูสตรีไม่โสด
นายสมตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
กระทำผิดวินัยในเรื่อง มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับข้าราชการครูโรงเรียนเดียวกัน
ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 นายสม ได้ขับรถยนต์ส่วนตัวพานางดาวเข้าพัก
ในโรงแรมม่านรูดและสามีของนางดาวตามไปพบ โดยนายสมและนางดาว ได้อ้างถึงสาเหตุในการเข้าพักเป็นเพราะ
นายสมมีอาการไอและเจ็บหน้าอกอย่างแรงในขณะที่ขับรถยนต์พานางดาวกลับจากการสัมมนาจำเป็นจะต้องหา
ที่พักนอนแบบสบายๆ ซึ่งหากขับรถต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้โดยปกติของวิญญูชน หากมีอาการไอและเจ็บ
หน้าอก ควรจะต้องรีบไปพบแพทย์หรือเข้าโรงพยาบาล หากอาการไม่หนักหนาถึงขนาดก็ยังสามารถไปจอดรถที่ปั๊มน้ำมันและเอนเบาะนอนพักผ่อนได้โดยไม่จำต้องเข้าโรงแรมม่านรูด  ประกอบกับสามีของนางดาวได้ติดตาม
ดูพฤติกรรมของบุคคลทั้งสองมาตลอดทาง แสดงให้เห็นว่าบุคคลทั้งสองมีพฤติกรรมเป็นที่น่าสงสัยชวนให้เข้าใจได้ว่า
มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาก่อนแล้วก่อนพากันเข้าโรงแรมในวันเกิดเหตุ
มาตรา 98 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ..2535 ประกอบมาตรา 134
แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.. 2547
กรณีกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
โทษปลดออกจากราชการ
มติ... เพิ่มโทษจากลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นโทษปลดออกจากราชการ

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์


ลักษณะการกระทำ  ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หรือทรัพย์ซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือบุคคลที่สามโดยทุจริต(บุคคลที่สามคือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ยักยอกและเจ้าของทรัพย์)
การครอบครองทรัพย์  หมายถึง การยึดทรัพย์นั้นไว้กับตนตามสภาพความเป็นจริง และขณะเดียวกันก็เป็นการยึดถือไว้เพื่อหวังเอาเป็นของตัวเองการยึดถือไว้ไม่จำต้องถือไว้ในมือ เพียงอยู่ในอำนาจการคุ้มครองดูแลและสามารถใช้สอยทรัพย์นั้นได้  ก็เป็นการครอบครองแล้ว
ตัวอย่าง (1)นางสาวแดงฝากสร้อยของนายดำไว้กับนายขาวเพื่อเอาไปคืนนายดำ  แต่นายขาวกลับเอาสร้อยไปขาย  นายขาวมีความผิดฐานยักยอก
ตัวอย่าง(2)นาย ก. เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากนาย ข. ต่อมา นาย ก.ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามที่ตกลงกันไว้ และยังเอารถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปขายให้ผู้อื่น นาย ก. มีความผิดฐานยักยอกเพราะตามกฏหมายกรรมสิทธิ์ในรถยัง
ไม่ตกเป็นของนาย ก. นาย ก.ไม่มีอำนาจที่จะเอาไปขายหรือจำหน่ายการที่ นาย ก. เอาไปขายเสีย เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริต
ยักยอกทรัพย์สินหาย
ลักษณะการกระทำ  ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด หรือเป็นทรัพย์สินหาย ซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้
ตัวอย่าง  นาย ก.ขับขี้รถจักรยานยนต์เพื่อไปทำงาน ระหว่างทางพบเห็นกระเป๋าสตางค์ จึงได้หยุดรถ
แล้วเก็บกระเป๋าสตางค์ แล้วนำเงินในกระเป๋าไปเป็นของตนเอง  นาย ก.มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย

ไม่สำคัญอะไร -- Natural Sense [Official MV]

กรณีตัวอย่างความผิดเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามมติของ ก.ค.ศ.


กรณีตัวอย่างความผิดเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามมติของ ก.ค.ศ. มาฝากเป็นความรู้ และสร้างความตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้มีการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม ดังนี้
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้เสียหาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาต่ออนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา รวม 7 คนเป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 157
ความเป็นมาของคดีนี้คือผู้อำนวยการสถานศึกษาผู้เสียหาย ได้ยื่นคำร้องขอย้ายไปดำรงตำแหน่งในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด โดยมีผู้ยื่นคำขอย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาแห่งเดียวกันอีก 3 คน ต่อมาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการย้าย เพื่อพิจารณาคุณสมบัติและจัดลำดับผู้ขอย้าย และผู้เสียหายอยู่ในลำดับที่ 1 และผู้ขอย้ายรายอื่นอยู่ในลำดับที่ 2, 3 และ 4 ตามลำดับจากนั้นได้มีการนำเสนอ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเพื่อพิจารณาอนุมัติย้าย และอนุกรรมการ 7 คนได้ร่วมกันพิจารณาอนุมัติย้ายผู้ที่อยู่ลำดับที่ 2 ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสถานศึกษาดังกล่าวแทนผู้เสียหาย ซึ่งเมื่อผู้เสียหายทราบมติก็ได้ทำหนังสือท้วงมติของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมในกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาการย้ายถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และได้รับคำชี้แจงว่า มติดังกล่าวชอบแล้ว หลังจากนั้นผู้เสียหายจึงทำหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมถึงประธาน ก.ค.ศ. เลขาธิการ กพฐ. และเลขาธิการ ก.ค.ศ. ซึ่งต่อมา ก.ค.ศ.พิจารณาแล้วเห็นว่าการพิจารณาย้ายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด จึงมีมติให้เพิกถอนมติ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าว และให้ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง ต่อมา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งโดยอนุกรรมการทั้ง 7 คนยังมีความเห็นเช่นเดิม และมติที่ประชุมยังอนุมัติย้ายผู้ที่อยู่ในลำดับที่ 2 เช่นเดิม ผู้เสียหายจึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเอาผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการทั้ง 7 คน ซึ่งขณะนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พิพากษาให้จำคุกอนุกรรมการทั้ง 6 คน คนละ 1 ปี 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ส่วนจำเลยที่ 1 ประธานอนุกรรมการ พยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่าร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 กระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง
จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ก.ค.ศ.มีมติให้เพิกถอนการดำเนินการของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาและให้ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องแล้ว แต่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาก็ยังคงดำเนินการตามมติของตนต่อไป โดยมิได้ไยดีต่อมติ ก.ค.ศ.ดังกล่าว จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ควรต้องเกิดขึ้น ดังนั้นจึงฝากมายัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ขอให้ปฏิบัติงานต่างๆ ให้ไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรม เป็นการดีที่สุด